Wednesday, November 24, 2010

มาผสมHaworthiaกันเถอะ

***บทความสั้นๆต่อไปนี้ ผมเขียนขึ้นและเคยเผยแพร่ลงในเวปบอร์ดของ mycacti.com เมื่อเดือนเมษายน 2552 ซึ่งผมคิดว่ายังมีประโยชน์สำหรับผู้สนใจที่อาจจะยังไม่เคยได้อ่าน เลย copy paste มาลงในบล๊อกกันซะเลย หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ *****


จะว่าไปแล้วในบ้านเราไม่ค่อยมีใครคิดจะผสมเกสร Haworthiaกันเท่าไหร่ ผมว่าเหตุผลก็เพราะดอกHaworthia เป็นหลอดเล็กๆ ผสมยากไม่เหมือนแคคตัส ถ้าใช้พู่กันปั่นๆจะไม่ติดง่ายๆ อีกทั้งเมื่อติดแล้ว หนึ่งฝักมีเมล็ดน้อยเมื่อเทียบกับแคคตัส และมักมีปัญหาเพาะไม่ขึ้น หรือเมื่อขึ้นแล้วต้นอ่อนมักเน่าตาย ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นอุปสรรค์ที่ทำให้มีคนตั้งใจผสมHaworthiaเพื่อเก็บเมล็ดน้อยมากในเมืองไทย และส่วนใหญ่จะรอให้ติดเมล็ดเองเมื่อมีแมลงผสม และเก็บเมล็ดมาเพาะเพื่อลุ้นเอาว่าลูกจะหน้าตาเป็นแบบไหน ดังนั้นจึงไม่สามารถผลิตลูกไม้ที่เราระบุเจาะจงเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ได้ และจำนวนลูกไม้มีปริมาณน้อย

ผมได้ลองผิดลองถูกในการผสมไม้สกุลนี้มาหลายปี ได้เคยใช้พู่กัน และขนแปรงทาสี ไปจนถึงการตัดผมตัวเองมาใช้!!แต่ก็ได้พบวิธีที่ง่ายและแน่นอนที่สุดเมื่อได้เข้าไปทำวิจัย ในห้องทดลองของสถาบันวิจัยเกี่ยวกับพันธุกรรมพืช ที่นั่นเขาใช้คีมขนาดเล็กที่ปลายแหลมเฟี้ยวในการผสมดอก Arabidopsis ที่มีขนาดเล็กมาก ต้องผสมใต้กล้องจุลทรรศน์ จึงเกิดความคิดที่ว่า ดอกHaworthiaที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่มีขนาดใหญ่กว่า น่าจะง่ายต่อการผสมด้วยการใช้คีมปลายแหลมเช่นกัน

ขอเปิดประเด็นด้วยลูกผสมซีรีส์พาร์คเซียน่า F1 สองตัว ที่ผมทำไว้เมื่อเกือบ 8 ปีที่แล้วสมัยเรียนอยู่ที่UC อาจจะเคยโพสไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน เอามาให้ชมอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนผลิต F2 ที่น่าจะสวยงามขึ้นกว่าเดิมอีกมากครับ



H. cv. "Dark Star" (parksiana x pubescens var. livida) F1


H. cv. "Black Magic" (parksiana x emelyae var. major)

สิ่งแรกที่ต้องมีครับ ปากคีบปลายแหลม อาจจะหายากสักหน่อย ลองถามตามร้านเครื่องมือแพทย์ไม่ทราบว่ามีหรือเปล่า ของผมได้มาจากแลปโดยตรง หรือถ้าไม่มีจริงๆ ซื้อปากคีบธรรมดามาตะไบเองให้แหลมก็ย่อมทำได้



อย่างแรก เลือกดอกที่บานแล้ว ฉีกกลีบล่าง3กลีบออก ขออภัยเล็บดำหน่อยปลูกต้นไม้มาทั้งวันครับ แหะๆ จะเห็นว่าฉีกออกแล้วจะพบเกสรตัวผู้ที่กำลังปล่อยละออกเกสร อยู่รายล้อมเกสรเพศเมีย



เอาปากคีบคีบเกสรตัวผู้ออกมาให้หมด แล้วเอามาพักไว้ดังภาพ



เราจะเหลือแต่เกสรเพศเมียโดดๆแบบนี้ ทำให้ผสมได้ง่าย

เด็ดเกสรตัวผู้ของอีกต้น จากดอกโดยตรง หรือที่พักไว้แล้ว เอามาป้ายๆบนเกสรตัวเมีย พยายามมองให้เห็นว่าละอองเกสรถูกป้ายติดจริงๆ

สิ่งที่สำคัญก็คือจะต้องใช้เกสรตัวผู้จากคนละต้น ที่เป็นคนละโคลน หากมาจากอีกต้นที่เป็นหน่อมาจากแม่เดียวกัน ก็จะไม่ติดครับ ยกเว้นในกรณี self-compatibility หรือการที่ไม้บางต้นสามารถผสมตัวเองได้นั่นเอง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ถึงเราจะไม่ผสม มันก็จะติดเองเกือบทุกฝัก

เราควรผสมช่วงเย็น เพื่อไม่ให้ดอกที่ถูกฉีกแห้งเร็วเกินไประหว่างช่วงมีแดดตอนกลางวัน ถ้าผสมติด รังใข่จะบวมๆให้เห็นใน2-3วัน ดังภาพ

และจะพัฒนาไปเป็นฝักในที่สุด

เมื่อฝักแก่จะแตกออกที่ปลาย ขออภัยไม่ได้เก็บภาพไว้ เมื่อปลายฝักเริ่มปริ เราเด็ดมาแกะเอาเมล็ดได้เลยครับ แล้วเก็บไว้ในที่แห้งๆเดือนหนึ่งก่อน ค่อยนำไปเพาะ ส่วนเรื่องการเพาะ จะนำเสนอในตอนต่อไปนะครับ

Monday, November 22, 2010

Euphorbia gymnocalycioides










ใครจะไปคิดว่าไม้ประหลาดหน้าตาคล้ายกับแคคตัสในกลุ่มยิมโนชนิดนี้ จะเป็นญาติใกล้ชิดกับโป๊ยเซียน ส้มเช้า สลัดได หรือแม้แต่ต้นคริสมาสใบแดงๆที่ขายกันตามเทศกาล และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับพวกแคคตัสแต่ประการใด !




ไม้ประหลาดชนิดนี้มีชื่อว่า Euphorbia gymnocalycioides หรือที่บ้านเราเรียกทับศัพท์ว่า "ยูโฟเบียยิมโน" ชื่อของมันก็บ่งบอกอยู่แล้ว ว่าหน้าตาเหมือนแคคตัสในสกุล Gymnocalycium ที่มาจากคนละทวีปห่างกันหลายพันกิโลเมตร และมาจากคนละวงศ์ นั่นคือเจ้ายูโฟเบียมาจากวงศ์ Euphorbiaceae ที่มีสมาชิกที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันได้อย่างต้นยางพารา สบู่ดำ มะยม ไม่ได้มาจากวงศ์ของแคคตัส Cactaceae แต่ประการใด แต่บังเอิญมีหน้าตาคล้ายคลึงกัน ซึ่งก็เป็นผลจากการวิวัฒนาการแบบ convergent evolution หรือเมื่อสิ่งมีชีวิตจากคนละพวกต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เหมือนกัน ก็มักจะวิวัฒนาการให้มีหน้าตาออกมาคล้ายกันไปด้วยนั่นเอง





















ในยุค 70 เมื่อ Mike Gilbert ได้ออกสำรวจบริเวณเทือกเขาที่ตกสำรวจในจังหวัด Sidamo ทางตอนใต้ของประเทศเอธิโอเปีย เขาได้พบกับเจ้าไม้ชนิดนี้เข้า ที่ระดับความสูง 1350 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และได้เก็บตัวอย่างต้นมาศึกษา ทำให้วงการพฤกษศาสตร์ และวงการนักเล่นไม้อวบน้ำในขณะนั้นตื่นตัวเป็นอันมาก เพราะเป็นยูโฟเบียแบบทรงกลมแป้นไม่กี่ชนิดที่ถูกพบในแอฟริกาตะวันออก เมื่อแรกพบนั้นต่างคิดกันว่าอาจเป็นฟอร์มของ Euphorbia turbiniformis แต่ชนิดหลังนี้มาจากแถบตะวันออกของประเทศโซมาเลีย ห่างกันหลายร้อยกิโลเมตร ที่น่าฉงนก็คือ ในแผ่นตัวอย่างแห้ง (herbarium sheet) ของ E. turbiniformis ที่เก็บโดย Emilio Chiovanda ผู้ค้นพบมันในปี 1936 นั้น มียูโฟเบียแห้งต้นหนึ่งติดอยู่ด้วยที่มีลักษณะเหมือน E. gymnocalycioides มาก จนมีผู้สงสัยว่าท่าน Chiovenda อาจจะได้พบมันแล้ว 40 ปีก่อนหน้าที่ Mr. Gilbert จะค้นพบมันอีกครั้ง เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเสมอในวงการพฤษศาสตร์ แม้แต่ E. turbiniformis เองก็หายสาบสูญไป 32 ปี ก่อนที่ John Lavranos จะค้นพบมันอีกครั้งโดยบังเอิญที่รอบๆ Eil Airport ในโซมาเลีย ขณะเครื่องบินของเขาแวะพักเติมน้ำมันอยู่นั่นเอง!























แรกเริ่มเดิมทีตอนมีการค้นพบใหม่ๆนั้น ไม้ชนิดนี้มีค่าดังทองคำ เพราะเชื่อกันว่าหายากยิ่ง และมีการนำมาปลูกกันไม่กี่ต้นเท่านั้น ผู้คนต่างสงสัยว่าเมื่อปลูกไปแล้ว จะมีการงอกแขนหรือกิ่งแขนงออกมาดังเช่น E. horwoodii หรือไม่ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการงอกกิ่งแขนงออกมาแต่ประการใด และในไม่ช้า เมล็ดก็ถูกผลิตออกมา เจ้ายูโฟเบียชนิดนี้ก็ถูกเผยแพร่ออกไปตามสวนพฤกษศาสตร์ต่างๆ และวงการนักเล่นแคคตัสไม้อวบน้ำทั่วโลก อีกทั้งยังมีการค้นพบแหล่งใหม่ๆในธรรมชาติเช่นที่ Negele ทางใต้จากแหล่งเดิมที่ Sidamo ว่ากันว่าไม้จากแหล่งใหม่นี้มีลายสวยชัดเจนกว่าของเดิม


ผมได้มีโอกาสรู้จักเจ้าไม้ตัวนี้ครั้งแรกจากหนังสือไม้อวบน้ำของต่างประเทศเมื่อปลายยุค 90 ในตอนนั้นไม้ตัวนี้เริ่มมีขายกันตาม Nursery ต่างๆในอเมริกา ประจวบเหมาะกับที่ผมได้ไปเรียนหนังสือที่นั่น จึงไม่พลาดโอกาสที่จะได้สั่งซื้อเจ้าไม้ประหลาดนี้มาทดลองเลี้ยง โดยชุดแรกได้มาจากสวนชื่อดัง Arid Lands Greenhouses ในอริโซน่า และยังได้สั่งเมล็ดจาก Mesa Garden มาทดลองเพาะ โดยราคาอยู่ที่ประมาณเมล็ดละ 1 ดอลล่า หรือ 50 บาทในช่วงยุค IMF ขณะนั้น !



เมื่อนำต้นและเมล็ดกลับมาปลูกที่เมืองไทย พบว่าสามารถเลี้ยงได้ดีในอากาศร้อนชื้นแบบบ้านเรา ดีกว่าตอนที่เลี้ยงอยู่ที่อเมริกามาก จึงรู้สึกว่าไม้ตัวนี้เป็นไม้ที่เลี้ยงง่าย สวยงาม และเหมาะกับเมืองไทยเป็นอันมาก ในขณะนั้นผมได้ไม้มาเพิ่มเติมจากพี่ๆและผู้ใหญ่นักเล่นใจดีหลายท่านในเมืองไทย ทำให้ผมมีไม้อยู่ในโรงเลี้ยงจำนวนหนึ่งที่แสดงให้เห็นความหลากหลายทางพันธุกรรมในไม้ชนิดนี้ กล่าวคือไม้บางต้นสันจะแหลม บางต้นจะทู่ๆกลมๆ ทั้งลายยังมีความต่าง ชัดจางแตกต่างกันไป ทำให้เพิ่มความสนุกสนานในการเก็บสะสม และรู้สึกว่าไม้ตัวนี้มีอนาคตในการ selective breeding หรือการคัดเลือกสายพันธุ์ที่เด่นสวย ดังเช่นที่ประเทศญี่ปุ่นคัดเลือกสายพันธุ์ Astrophytum หรือ Haworthia เป็นต้น

เมล็ดมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับยูโฟเบียชนิดอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เพาะยากแต่ประการใด ผมโรยเมล็ดบนหน้าดินที่เปียกชุ่มด้วยน้ำผสมcaptan แล้วมัดกระถางในถุงพลาสติก เทคนิคเดียวกับที่ใช้เพาะแคคตัส ลืมมันไปเลย 6 เดือนเต็มๆ ซึ่งขณะนั้นผมบินไปเรียน บินกลับ แล้วค่อยมาดู เมื่อกลับมาต้นอ่อนก็จะพร้อมที่จะถูกเอาออกมาจากถุงแล้ว อะไรจะง่ายปานนี้!

การโตอยู่ในระดับปานกลาง เทียบกับแคคตัสหินๆหลายตัวแล้ว ถือว่าเร็วทีเดียวครับ ไม้อายุ 2-3 ปีเริ่มให้ดอกกันแล้ว ซึ่งดอกนั้นมีขนาดเล็ก ไม่มีความน่าสนใจ ซึ่งผมว่านี่เป็นข้อด้อยของยูโฟเบียส่วนใหญ่เมื่อเทียบกับแคคตัส แต่เพราะมีขนาดเล็ก จึงออกมาจำนวนมาก ทำให้ต้องมานั่นเขี่ยผสมเกสรกันบ่อยๆ โดยผมใช้คีมปากแหลมขนาดเล็กในการคีบเกสรและผสมระหว่างต้น ในไม่ช้าไม้ของผมหลายต้นก็ติดฝัก และในไม่ช้าเมล็ดก็ดีดกระเด็นทิ้งไปก่อนที่ผมจะมีโอกาสเก็บมัน!! (ทำให้คิดในใจ มันเมล็ดละเหรียญนะนั้น!) เป็นประสบการแรกที่ผมเรียนรู้เกี่ยวกับไม้ตัวนี้ คือต้องเช็คทุกเช้า ถ้าก้านฝักชูขึ้น แสดงว่าพร้อมดีดเมล็ด ถ้าดึงเบาๆแล้วฝักหลุดออกโดยไม่มียางไหล แสดงว่าฝักแก่แล้ว นำฝักนั้นเก็บเข้าซองกระดาษ ให้เค้าไปดีดเองในซองได้เลยครับ


ไม้ชนิดนี้ถ้าโตเต็มที่แล้ว สันก็จะยิ่งชัด แม้ลายอาจจะจางลงไปบ้าง แต่เป็นธรรมดา ที่ไม้อายุมากๆแล้ว ทรงจะเบี้ยว ไม่ได้กลมสมมาตรเหมือนตอนเด็ก และอาจจะเริ่มออกหน่อตามข้างต้น ซึ่งหน่อเหล่านั้นสามารถเด็ดไปชำหรือกราฟขยายพันธุ์ได้เช่นเดียวกัน อยากฝากเตือนว่า ถ้าท่านมีไม้ต้นใหญ่ๆอายุมากๆไว้ในครอบครอง ต้องระวังเรื่องดินเรื่องน้ำให้ดีครับ ไม้แก่นั้นจะไม่แข็งแรงเหมือนตอนมันเล็ก หากเจอดินชื้นนานๆ หรือแน่นมากๆ โอกาสเน่ามีสูงมาก ซึ่งผมเองเรียนรู้ด้วยประสบการราคาแพงที่ต้องสูญเสียไม้ที่ใหญ่ สวย และรักที่สุดไป เพียงแค่ไปเปลี่ยนกระถางให้ใหญ่ขึ้น ดินแบบผสมอินทรย์วัตถุสูง หวังแค่ว่ามันจะโตขึ้นอีก แต่ก็ต้องมาจากไปก่อนเวลาอันควรจากโรคเน่าโคนต้น ซึ่งยังเสียใจจนถึงทุกวันนี้ ไม้แก่ๆนั้นต้องปฏิบัติกับเค้าเหมือนคนแก่ครับ ค่อยๆเป็นค่อยๆไปช้าๆ ไปเร่งมากๆไม่ได้ครับ :)

**********************************************************************************